วรรณยุกต์ในภาษาไทย

วรรณยุกต์ในภาษาไทย นับเป็นเสียงดนตรีตามตำราภาษาไทยสมัยโบราณ โดยแบ่งออกเป็น ๕ เสียง ได้แก่ สามัญ เอก โท ตรี และจัตวา และมีเครื่องหมายกำกับเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งเรียกว่า “วรรณยุกต์” ด้วยเช่นกัน โดยที่เครื่องหมายวรรณยุกต์ อาจไม่ได้บ่งบอกถึงเสียงวรรณยุกต์นั้นเสมอไป เว้นแต่เมื่อกำกับคำเป็น ที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลาง

เสียงวรรณยุกต์ไทยตามหลักภาษาศาสตร์ แบ่งได้ดังนี้

  • เสียงสามัญ (ระดับเสียงกึ่งสูง-กลาง)
  • เสียงเอก (ระดับเสียงกึ่งต่ำ-ต่ำ)
  • เสียงโท (ระดับเสียงสูง-ต่ำ)
  • เสียงตรี (ระดับเสียงกึ่งสูง-สูง)
  • เสียงจัตวา (ระดับเสียงกึ่งต่ำ-ต่ำ-กึ่งสูง)

รูปวรรณยุกต์

เครื่องหมายวรรณยุกต์ในภาษาไทย มี ๔ รูป ดังนี้

ไม้เอก (-่), ไม้โท (-้), ไม้ตรี (-๊) และ ไม้จัตวา (-๋)

อย่างไรก็ตาม ในจารึกสมัยโบราณ เช่น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีเครื่องหมายวรรณยุกต์เพียง ๒ รูป คือ ไม้เอก (-่) และไม้โท (-๋) เช่น น๋อง (น้อง), ห๋า (ห้า)

การผันเสียงวรรณยุกต์

โดยทั่วไปเสียงพยางค์หนึ่งในภาษาไทย สามารถผันได้ ๕ เสียงวรรณยุกต์ แต่ในภาษาเขียน จะมีกฎเกณฑ์การผันที่ตายตัว ดังนี้

หมู่อักษร-คำเป็นคำตาย เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี เสียงจัตวา
อักษรกลาง คำเป็น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า
อักษรกลาง คำตาย สระสั้น กะ ก้ะ ก๊ะ ก๋ะ
อักษรกลาง คำตาย สระยาว กาบ ก้าบ ก๊าบ ก๋าบ
อักษรสูง คำเป็น ข่า ข้า ขา
อักษรสูง คำตาย สระสั้น ขะ ข้ะ ข๋ะ
อักษรสูง คำตาย สระยาว ขาบ ข้าบ
อักษรต่ำ คำเป็น คา ค่า ค้า
อักษรต่ำ คำตาย สระสั้น ค่ะ คะ
อักษรต่ำ คำตาย สระยาว คาบ ค้าบ ค๋าบ

คำตายของอักษรกลางและอักษรสูง ไม่ว่าสระจะเป็นเสียงสั้นหรือเสียงยาวก็ผันวรรณยุกต์ตามรูปแบบเดียวกัน เว้นแต่คำตายของอักษรต่ำ เมื่อเป็นสระเสียงสั้นหรือเสียงยาวจะผันคนละแบบ

อักษรต่ำและอักษรสูงไม่สามารถผันให้ครบ ๕ เสียงได้ จึงมักจะใช้อักษรเสียงเดียวกันจากอีกหมู่หนึ่งมาใช้เป็นอักษรนำ โดยมีอักษรสูงนำ (ยกเว้นอักษร อ ซึ่งเป็นอักษรกลาง สามารถนำ อักษร ย ได้) เช่น นา หน่า น่า น้า หนา, มี หมี่ มี่ มี้ หมี

ใส่ความเห็น